หน้าแรก > ข่าวสาร > การศึกษาไทย มองเขมรแล้วย้อนดูตัว

การศึกษาไทย มองเขมรแล้วย้อนดูตัว

พฤศจิกายน 4, 2008 ใส่ความเห็น Go to comments

ข้อเขียนคอลัมน์ “รู้แล้วบอกต่อ” โดย “ธันวา วิน” ที่ตีพิมพ์ใน “มติชน” รายวัน ฉบับวันที่ 13 ตุลาคม 2551 ได้กล่าวถึงรายงานข่าวจากกรุงพนมเปญ เมืองหลวงของประเทศกัมพูชา เกี่ยวกับปัญหาด้านคุณภาพการศึกษาในประเทศกัมพูชาที่ตกต่ำ จนส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการพัฒนาประเทศ

รายงานข่าวดังกล่าวยังระบุถึงสถานการณ์ที่ประเทศนั้นมีสถาบันการศึกษา จำนวน มากเกินไป แต่เน้นแค่วุฒิการศึกษา และนักศึกษาเขมรเองก็ให้ความสำคัญเรื่องวุฒิการศึกษา โดยเห็นคุณภาพเป็นเรื่องรอง จนธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือเอดีบี ได้ออกมาเตือนว่า การที่สถาบันการศึกษามีคุณภาพต่ำเช่นนี้ จะมีผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศกัมพูชาในระยะยาว

เมื่อหันย้อนมามองดูประเทศไทย เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ในวันที่ 6 ธันวาคม โครงการ PISA (Programme for International Student Assessment) ซึ่งเป็นโครงการสำรวจระดับการเรียนรู้ของนักเรียนในกลุ่มอายุ 15 ปี ในประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการ ก็ได้ประกาศผลการสำรวจประจำปี ค.ศ.2006 ซึ่งรายงานถึงผลจากประเทศไทยไว้อย่างน่าสนใจ รวมทั้งน่าวิตกเป็นอันมาก โครงการดังกล่าวเป็นขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจ หรือ OECD (Organization for Economic Co-operation and Development) ซึ่งสำรวจสถานภาพการศึกษาของประเทศในกลุ่มสมาชิกทั้งหมด 30 ประเทศ นอกจากนั้น ยังมีประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกขอเข้าร่วมโครงการด้วย จำนวน 27 ประเทศ ซึ่งในจำนวนนี้มีประเทศไทยรวมอยู่ด้วย โดยเป็นการดำเนินการร่วมกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ สสวท.

การประเมินในปี 2006 ได้เลือกทำใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านวิชาวิทยาศาสตร์ วิชาคณิตศาสตร์ และด้านการอ่าน ซึ่งในระดับนานาชาติยอมรับกันว่า มีความสำคัญต่อระบบการเรียนรู้ วิชาวิทยาศาสตร์ เป็นสาขาวิชาที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมทั้งเป็นปัจจัยของการดำรงชีวิตในโลกยุคใหม่ วิชาคณิตศาสตร์นั้น เป็นพื้นฐานของศาสตร์ต่างๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบธุรกิจและเศรษฐกิจ รวมทั้งเป็นหลักสำคัญของตรรกวิทยา อันได้แก่ หลักการคิดและการตัดสินใจ ส่วนด้านการอ่านนั้น ก็นับว่าสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นเครื่องมือหลักสำหรับการศึกษาศาสตร์ต่างๆ ทุกสาขา รวมทั้งเป็นพื้นฐานของการสื่อสารระหว่างมนุษย์อีกด้วย

ผลการสำรวจสำหรับประเทศไทย ถ้าจะสรุปง่ายๆ ก็คงต้องบอกว่า สอบตกทั้งหมด โดยมีผลสรุป ดังนี้

ด้านวิทยาศาสตร์ โดยการประเมินความรู้ และการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ในชีวิตประจำวัน พบว่า คะแนนเฉลี่ยของประเทศกลุ่ม OECD มีค่า 500 แต่ประเทศไทยเราได้เพียง 421 ซึ่งต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยของ OECD ถึง 79 คะแนน หรือถ้าเปรียบเทียบเป็นอันดับจาก 57 ประเทศ ผลการประเมินโดยแยกรายละเอียดตามสาระต่างๆ ทางด้านวิทยาศาสตร์ของเราจะอยู่ที่อันดับระหว่าง 44-47 ในรายละเอียดยังพบอีกด้วยว่า นักเรียนไทย 47% มีความรู้วิทยาศาสตร์ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ส่วนที่จะจัดได้ว่ามีความรู้วิทยาศาสตร์อยู่ในระดับสูง ก็มีเพียง 1% เท่านั้นเอง

วิชาคณิตศาสตร์ก็เช่นกัน ได้ค่าคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่า OECD และอยู่ในอันดับที่ 43-46 จากจำนวน 57 ประเทศ

ส่วนคะแนนด้านการอ่าน ซึ่งได้สำรวจในรายละเอียดถึงการเข้าใจความหมายของคำ การคิดวิเคราะห์ การตีความทำความเข้าใจกับสาระที่อ่าน เราก็ได้คะแนน 417 จากค่าเฉลี่ย 500 และอยู่ในอันดับที่ 41-42 จาก 57 ประเทศ ถ้าคิดจำแนกเป็นระดับจาก 1 ซึ่งถือว่าต่ำสุด ถึง 5 คือสูงสุด จะพบว่า ความสมารถในการอ่านโดยเฉลี่ยของนักเรียนชายไทย อยู่ที่ระดับ 1 และนักเรียนหญิงอยู่ที่ระดับ 2

โครงการ PISA ได้ดำเนินการสำรวจมาแล้ว 3 ครั้ง คือ PISA 2000, 2003 และครั้งล่าสุดคือ 2006 ในภาพรวม ประเทศที่ต้องถือว่าคุณภาพการศึกษาดีที่สุด คือประเทศ ฟินแลนด์ ซึ่งเป็นเจ้าของโทรศัพท์มือถือโนเกีย และอุตสาหกรรมไฮเทคอื่นๆ เพราะผลการประเมินของ PISA พบว่าประเทศนี้ติดอันดับหนึ่งมาโดยตลอด ประโยชน์จากการประเมินเช่นนี้โดยตรงก็คือ การทำให้ประเทศต่างๆ มีการตื่นตัว พัฒนาระบบการศึกษาของตนอย่างเร่งรัด เพื่อให้ประเทศรุดหน้าไปได้ในโลกปัจจุบันที่ความรู้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งรวมทั้งประเทศในเอเชียหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น จีน หรือเกาหลี จนบางประเทศเริ่มมีผลสัมฤทธิ์ที่เทียบกันได้กับประเทศชั้นนำอื่นๆ หรือแม้แต่เริ่มมีการแซงหน้า เช่น ผลของ PISA 2006 ด้านการอ่านได้ พบว่า เกาหลี แซงขึ้นไปเป็นอันดับหนึ่ง ปัดให้ฟินแลนด์ แชมป์เก่าตกมาอยู่ที่สอง

แต่สำหรับประเทศไทย สถานการณ์ที่พบกลับตรงกันข้าม เพราะนอกจากจะพบโดยภาพรวมว่านักเรียนประมาณ 50% หรือมากกว่า มีความรู้ และทักษะไม่ถึงระดับพื้นฐานแล้ว ยังพบอีกด้วยว่า คะแนนเฉลี่ยของเราลดลงอย่างต่อเนื่องในทุกวิชา เมื่อเทียบกับผลเมื่อปี PISA 2000

PISA เป็นเพียงดัชนีชี้วัดอันหนึ่งเท่านั้น แต่ไม่ว่าจะวัดอย่างไรสักกี่ครั้ง โดยการวัดด้วยตัวเราเอง หรือให้หน่วยงานระดับนานาชาติมาวัดให้ เราก็จะพบภาพที่น่าหนักใจของการศึกษาไทยอยู่ทุกครั้ง เช่น การประเมินคุณภาพของสถานศึกษาที่ทำโดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมิน คุณภาพการศึกษา หรือ สมศ. พบว่า มีโรงเรียนได้คุณภาพผ่านเกณฑ์ประเมินเพียง 35% จากโรงเรียนทั้งหมด 30,010 แห่ง หรือผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ ที่เรียกว่า NT พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่สอบได้ต่ำกว่า 50% เกือบทุกวิชา เป็นต้น

นอกจากนั้น ยังปรากฏตัวเลขสถิติต่างๆ ที่แสดงถึงความล้าหลังของการศึกษาไทย ตัวอย่างของสถิติเหล่านี้ที่ปรากฏจากการประเมินต่างๆ ก็มี เช่น ระดับการติดต่อสื่อสารของไทยกับประชาคมโลกจัดอยู่ในลำดับที่ 49 จาก 64 ประเทศ (มาเลเซียอยู่ลำดับ 19) ไทยมีนักวิจัยเพียง 0.33 คนต่อประชากร 1,000 คน ซึ่งเป็นผลจากความอ่อนแอทางวิทยาศาสตร์ ขณะที่ญี่ปุ่นมี 7 ไต้หวันมี 5 และเกาหลีมี 3 คน (สิบเท่าของไทย) ตามลำดับ

สัดส่วนครูต่อนักเรียนของไทยอยู่ที่ครู 1 คนต่อนักเรียน 45 คน ขณะที่ไอร์แลนด์ (อีกประเทศหนึ่งที่ระบบการศึกษาดีมาก) มี 1 ต่อ 25 อังกฤษมี 1 ต่อ 23 (ชั้นประถม) และ 1 ต่อ 17 (ชั้นมัธยม) ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และสร้างสรรค์ ของเด็กไทยมีค่าถึงเกณฑ์มาตรฐานเพียง 10.1% ทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองและการรักการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่าง ต่อเนื่อง มีค่าเพียง 26.5% คนไทยซื้อหนังสือเพียงคนละ 1.6 เล่มต่อปี มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศต่ำมาก คือมีเครื่องคอมพิวเตอร์เพียง 43 เครื่องต่อประชากร 1,000 คน ในขณะที่ญี่ปุ่น มี 477 เกาหลีไต้ 324 ไต้หวันมี 314 และมาเลเซียมี 137 เครื่อง ประชากรในชนบทมีอัตราการอ่านออกเขียนได้เพียง 54.6% ขณะที่ในเมืองมี 70.8% ฯลฯ

ไทยเราเคยเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ทางด้านการศึกษา และน่าจะถือได้ว่าเคยเป็นผู้นำทางด้านนี้ของประเทศในกลุ่มอาเซียนทั้งหมด เราเคยมีอดีตนายกรัฐมนตรีของมาเลเซียที่เป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนมัธยมแห่ง หนึ่งในประเทศไทย

ห้าสิบปีที่แล้ว เมื่อมีการก่อตั้งคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เราเคยมีคนจากทั่วอาเซียน ซึ่งรวมทั้ง สิงคโปร์ และมาเลเซีย มาศึกษาปริญญาเอกในเมืองไทย แต่ปัจจุบันเราจะเห็นว่า มหาวิทยาลัยในสิงคโปร์ติดอันดับต้นๆ ของโลก ในขณะนี้ใน 200 อันดับแรกของโลกนั้น หามหาวิทยาลัยไทยเกือบไม่ได้เลย ใครที่อ่านรายงานของ “ธันวา วิน” แล้วอาจจะอุ่นใจว่าอย่างน้อยเราก็ยังมีเพื่อนอยู่ใกล้ๆ บ้าน แต่ขณะเดียวก็เชื่อว่าคงต้องมีความประหวั่นอยู่ตลอดเวลาว่าประเทศที่อาจจะ แซงเราประเทศต่อไปน่าจะเป็นเวียดนาม

คงเป็นที่ตระหนักกันดีว่า การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพของคน ถ้าเรามีการศึกษาที่อ่อนแอ คุณภาพของทุนมนุษย์ของเราก็จะอ่อนด้อย ซึ่งบัดนี้ดูเหมือนประเทศไทยกำลังเผชิญสภาวะนี้อย่างเต็มประตู เรามีการพัฒนาประเทศ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมมาได้ระดับหนึ่ง แต่อยู่บนพื้นฐานที่ง่อนแง่นของทุนทางปัญญาและระบบการศึกษา

เราเป็นประเทศที่ขาดนวัตกรรมเพราะเราไม่มีการวิจัย และคิดค้นที่เพียงพอ พูดตรงๆ ก็คือเพราะความรู้เราไม่พอ เราจึงต้องนำเข้านวัตกรรมมาใช้ในระบบการผลิตที่คิดมูลค่าเพิ่มในภาพรวมได้ แต่เพียงเล็กน้อย แต่เราก็ได้พัฒนาสังคมเรามาให้อยู่ในวัฒนธรรมของการบริโภคอย่างเต็มที่ ครั้นเมื่อโลกเปลี่ยนเข้าสู่ยุคใหม่ ซึ่งเป็นยุคที่ความรู้เป็นพลังอำนาจอย่างแท้จริง ความรู้ที่เป็นปัจจัยสำคัญของการผลิต เราก็จะเริ่มตกยุค

ประเทศไทยวันนี้ ถ้าจะเปรียบก็คงจะเหมือนกับคนที่โดนคลื่นสินามิซัดเข้าไปในตึกหลังหนึ่ง และระดับน้ำสูงขึ้นจนดันเราไปติดเพดานห้อง จะหนีตายขึ้นไปชั้นบนก็ทำไม่ได้เพราะหาช่องไม่เจอ และไม่มีปัญญาที่จะหา เนื่องจากเรามีทุนความรู้ไม่เพียงพอ ครั้นจะลงข้างล่างก็อาจจมน้ำตาย เพราะเราสูญเสียขีดความสามารถในการอยู่รอดในตลาดล่างมากขึ้นทุกที เนื่องมาจากค่าแรง และค่าปัจจัยการผลิตต่างๆ ที่สูงขึ้น เราจึงเริ่มพบปรากฏการณ์การสำลักน้ำ เช่น การปิดตัวของโรงงานสิ่งทอ และโรงงานอื่นๆ เกิดขึ้นอยู่เนืองๆ และจะค่อยๆ มากขึ้น เนื่องจากเราแข่งในตลาดนี้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว เพราะต้นทุนเราสูงขึ้น และเทคโนโลยีเราเริ่มล้าสมัย

แม้เราจะแก้การศึกษาของเราในวันนี้ก็จะเริ่มสายไปเสียแล้ว แต่หากไม่แก้เลยสังคมไทยจะดำเนินไปสู่จุดใดนั้น เป็นความน่าสะพรึงกลัวที่เราคงจะต้องช่วยกันคิดให้หนัก

ที่มา – มติชนรายวัน หน้า 7 – วันที่ 02 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11194

หมวดหมู่:ข่าวสาร
  1. ยังไม่มีความเห็น
  1. No trackbacks yet.

ใส่ความเห็น